การปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) ผลกระทบจากต่อกองทุนรวมและทรัสต์อสังหาริมทรัพย์
อสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์หลักที่กองทุนรวมและทรัสต์อสังหาริมทรัพย์เข้าลงทุนเพื่อนำมาปล่อยเช่าหารายได้ ซึ่งอสังหาริมทรัพย์มีจุดที่แตกต่างกับสินทรัพย์ลงทุนอื่นจากการเป็นสินทรัพย์ที่มีตัวตนจับต้องได้ (physical asset) ซึ่งการใช้ประโยชน์จะมีการเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ทำให้เมื่ออสังหาริมทรัพย์มีอายุการใช้งานผ่านไประยะหนึ่ง จะมีความจำในการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) เพื่อให้อสังหาริมทรัพย์อยู่ในสภาพที่ดี ทั้งนี้การปรับปรุงก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนี้
ข้อดี
- การปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) ช่วยให้ทรัพย์สินอยู่ในสภาพที่เหมาะสม และสามารถแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดได้
- ภายหลังการปรับปรุง กำไรจากการปล่อยเช่ามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งกองมีแนวโน้มที่จะจ่ายประโยชน์ตอบแทนเงินปันผลสูงขึ้น
- แนวโน้มกำไรในระยะยาวที่ดีขึ้นหลังปรับปรุง จะช่วยให้มูลค่าประเมินอสังหาริมทรัพย์ตามการประเมินด้วยวิธีรายได้ (Income Approach) สูงขึ้นซึ่งสะท้อนศักยภาพในการหารายได้ของทรัพย์สิน และทำให้มีมูลค่าทางบัญชี (NAV) ในระดับที่เหมาะสมขึ้น
ข้อเสีย
- การปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) ต้องใช้งบประมาณที่สูงกว่าการซ่อมแซมปกติ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในช่วงปรับปรุงที่สูง ทั้งนี้โดยปกติเงินทุนที่ใช้อาจมาจากเงินหมุนเวียนของกองหรือเงินกู้ยืม
- ในการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่อาจทำให้ต้องปิดพื้นที่และทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์และขาดรายได้ในช่วงปรับปรุง ทั้งนี้ผู้จัดการกองสามารถบริหารแผนปรับปรุงเพื่อลดผลกระทบในการหารายได้ เช่น ปิดปรับปรุงทีละเฟส, ปรับปรุงในช่วง low season กรณีเป็นโรงแรมหรือพื้นที่ค้าปลีก หรือปิดปรับปรุงในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่สามารถหารายได้
- ในช่วงที่มีการปรับปรุงและช่วงแรกหลังปรับปรุงเสร็จ ระดับกำไรจากการปล่อยเช่าอาจยังไม่สูงเท่ากับก่อนการปรับปรุง ซึ่งทำให้กองมีแนวโน้มที่จะจ่ายประโยชน์ตอบแทนเงินปันผลลดลง
ทั้งนี้รอบการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation) จะแตกต่างกันตามการดูแลรักษา (Maintenance) ของผู้บริหารโครงการ (Property Manager) รวมถึงประเภทของทรัพย์สิน โดยอสังหาริมทรัพย์ประเภทโรงแรมและพื้นที่ค้าปลีก มีแนวโน้มที่จะต้องมีการปรับปรุงบ่อยกว่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทอื่น เพื่อให้มีสภาพที่ดีและดึงดูดให้มี traffic ของผู้มาใช้บริการจำนวนมาก โดยในตลาดก็มีหลายๆ กองอสังหาฯ ที่มีการปรับปรุง เช่น
-
CTARAF : ปิดปรับปรุงโรงแรมและ rebrand จาก Centara Grand Beach Resort Samui Hotel เป็นCentara Reserve Samui
-
QHOP : ปิดปรับปรุงโรงแรมบูเลอวาร์ด กรุงเทพ ซึ่งอาคารมีอายุการใช้งานมากกว่า 30 ปี (เดิมเป็นโรงแรม อมารี บูเลอวาร์ด)
-
CPNREIT : ปิดปรับปรุงเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า และโรงแรม Hilton Pattaya
-
QHHR : ปิดปรับปรุงโรงแรม Centre Point สุขุมวิท 10 และ ประตูน้ำ
-
Ally : ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลางศูนย์การค้าเดอะ คริสตัล เอสบี ราชพฤกษ์, เดอะ ไพร์ม หัวลำโพง, ศูนย์การค้าคริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เป็นต้น
-
FUTUREPF : ปิดปรับปรุงพื้นที่ร้านค้าบางส่วนศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
-
LPF : ปิดปรับปรุง โลตัส เอ็กซ์ตร้า ภูเก็ต, โลตัส มหาชัย และโลตัส ศรีนครินทร์ เป็นต้น
ตัวอย่างการปรับปรุงทรัพย์สินใหญ่ (Major Renovation)
กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่า ควอลิตี้ เฮ้าส์ โฮเทล แอนด์ เรซิเดนซ์ (กอง QHHR)
โครงการ Centre Point สุขุมวิท 10
- ปรับปรุงห้องพัก
- ปรับปรุงพื้นที่ส่วนกลาง (Lobby / ห้องอาหาร)
ที่มา : รายงานประจำปี 2565 ของกอง QHHR
อนึ่งกรณีที่กองอสังหาฯ มีอสังหาริมทรัพย์ลงทุนหลายโครงการ และไม่ได้มีการดำเนินการปรับปรุงพร้อมกันจะช่วยให้มีผลกระทบต่อกำไรและประโยชน์ตอบแทนเงินปันผลน้อยกว่า เนื่องจากโครงการอื่นยังสามารถหาประโยชน์ได้ตามปกติ